Mobile Stroke Units Improve Outcomes in Ischemic Stroke (USA.)

Mobile Stroke Units Improve Outcomes in Ischemic Stroke (USA.)

รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ช่วยพัฒนาผลการรักษาผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือด

 

ในผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน การรักษาบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (MSU) มีผลทำให้อาการของผู้ป่วยหลังได้รับการรักษา 90 วัน มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาระดับมาตรฐานโดยรถพยาบาลฉุกเฉิน (EMS) เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาบนรถ MSU จะได้รับยาสลายลิ่มเลือด (Tissue Plasminogen Activator; t-PA) อย่างรวดเร็วและมีความถี่ในการให้ยาสูงกว่าการรักษาระดับมาตรฐานโดยรถ EMS

“การเข้ามามีบทบาทของรถ MSU ที่แพร่หลายมากขึ้น มีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชนเพราะช่วยลดความพิการในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองลง แม้ว่าการสร้างและเตรียมบุคลากรสำหรับรถ MSU จะต้องใช้งบประมาณสูง แต่รถ MSU สามารถลดเวลาในการรักษาได้ พวกเราคาดหวังให้การรักษาโดยรถ MSU แพร่หลายขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในระยะยาว” กล่าวโดย James C. Grotta ประธานหน่วยวิจัยโรคหลอดเลือดสมอง สถาบันวิจัยและนวัตกรรม เมมโมเรียล เฮอร์แมน ศูนย์การแพทย์รัฐเท็กซัส เมืองฮูสตัน ณ งานประชุมโรคหลอดเลือดสมองนานาชาติ (ISC) ปี 2021

รถ MSU คือ รถพยาบาลที่มีเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scanner), ที่ตรวจทดสอบแบบห้องปฏิบัติการภายในรถ, การแปลผลภาพถ่ายทางรังสี (Tele-radiology) และการให้การรักษาหรือการส่งปรึกษาทางระบบประสาทผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ (Tele-neurology) โดยรถ MSU นี้ ถูกออกแบบมาให้บุคลากรบนรถสามารถวินิจฉัยและให้การรักษาโรคสมองขาดเลือดได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ CT Scanner การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Angiography) และการให้ยาสลายลิ่มเลือด (tPA) ในขณะที่นำผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุมาโรงพยาบาล

ในการศึกษาเพื่อพัฒนารถ MSU ที่ดีที่สุด นักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบการวินิจฉัย และให้การรักษาโดยรถ MSU ก่อนถึงโรงพยาบาล กับการรักษาระดับมาตรฐานโดย EMS ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะสมองขาดเลือด ได้สมมติฐานจากการศึกษาว่า ในช่วง 90 วันหลังได้รับการรักษาโดยรถ MSU ผู้ป่วยมีความพิการลดลง

            โดยการศึกษาวิจัยนี้ได้ทำการเก็บข้อมูลในเมืองฮูสตัน เมืองออโรรา เมืองโคโลราโดสปริงส์ เมืองนิวยอร์ก เมืองอินเดียนาโปลิส เมืองลอสแองเจลิส เมืองเบอร์ลินเกม เมืองเมมฟิส

Grotta แสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดที่ต้องรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือด (tPA) จำนวน 1,047 ราย ในส่วนของผลลัพธ์หลังได้รับการรักษามาแล้ว 90 วัน ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2563 แต่เนื่องจากไม่สามารถกำหนดจำนวนผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับเก็บข้อมูลในแต่ละวันได้ ทางทีมศึกษาจะจัดสรรผู้ป่วยไป MSU และ EMS ตามรายสัปดาห์ ฉะนั้นในผู้ป่วยที่เป็นกรณีศึกษา 1,047 ราย จะเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจาก MSU 617 ราย และจาก EMS 430 ราย

ผลการรักษาขั้นแรกที่ศึกษา  คือ ระดับความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (mRS) ที่ระยะเวลา 3 เดือนหลังได้รับการรักษา โดยความแตกต่างของ mRS 0 (ไม่มีความพิการ) และ mRS 1 (ไม่มีความผิดปกติที่รุนแรง สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้) มีความแตกต่างกันน้อยกว่า mRS 3 (มีความผิดปกติพอควร กิจวัตรประจำวันได้บางอย่าง สามารถเดินได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย) และ mRS 4 (มีความผิดปกติมาก ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองโดยไม่มีคนช่วยได้ สามารถเดินได้แต่ต้องมีคนพยุง) ผู้วิจัยจึงต้องทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วน และต้องประเมินให้ได้ผลของระดับความพิการเฉพาะในช่วงหลังได้รับการรักษาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความพิการเดิมของผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่ส่งมาโดยรถ MSU จะได้รับการรักษารวดเร็วกว่ารถ EMS โดย 1 ใน 3 (33%) ของผู้ป่วยที่ถูกส่งมาโดยรถ MSU จะได้รับการรักษาภายใน 1 ชั่วโมง เทียบกับผู้ป่วยที่ส่งมาโดยรถ EMS มีเพียง 3% ที่ได้รับการรักษาภายใน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้สัดส่วนของผู้ป่วยที่ส่งมาโดยรถ MSU มี 97% ที่เหมาะสมที่จะได้ยาสลายลิ่มเลือด ในขณะที่ผู้ป่วยที่ส่งมาโดยรถ EMS มีเพียงแค่ 79% ที่สามารถรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาระดับมาตรฐานโดยรถ EMS ไม่สามารถมาถึงหน่วยตรวจได้ภายใน 4.5 ชั่วโมง จึงมีแนวโน้มต่ำที่แพทย์หน่วยตรวจฉุกเฉินจะรักษาผู้ป่วยด้วยยาสลายลิ่มเลือด ต่างกับแพทย์ประสาทวิทยาที่ให้การรักษาผู้ป่วยได้ภายในรถ MSU

ค่าน้ำหนักอรรถประโยชน์โดยเฉลี่ยของ mRS ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยรถ MSU เท่ากับ 0.726 และ 53% ไม่มี หรือมีความผิดปกติเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ป่วยที่ส่งรักษาโดยรถ EMS เท่ากับ 0.657 มีเพียง 43% เท่านั้นที่ไม่มี หรือมีความผิดปกติเล็กน้อย จากค่าที่ต่างกันแสดงให้เห็นว่าการรักษาโดยรถ MSU ลดความพิการในช่วง 90 วันหลังรับการรักษาได้ดีกว่ารถ EMS

“ในภาพรวม หากรักษาผู้ป่วยทั้งหมด 100 รายโดยรถ MSU แทนรถ EMS ผู้ป่วย 27 รายจะมีความผิดปกติเล็กน้อย และมากกว่า 11 จะไม่มีความผิดปกติเลย ซึ่งแปลผลเป็น mRS 0 หรือ 1 นั่นเอง” Grotta กล่าว นักวิจัยจะทำการศึกษาข้อมูลภาวะสุขภาพของผู้ป่วยกลุ่มนี้ในแต่ละปี ซึ่งจากข้อมูลจะทำให้รู้ถึงความคุ้มค่า และข้อมูลที่สำคัญต่างๆ

ปัญหาหนึ่งของการให้บริการ MSU ในปัจจุบัน คือ งบประมาณที่ต้องใช้ในการออกให้บริการ จากงานวิจัยที่ Grotta และทีมได้ศึกษาการให้บริการโดยรถ MSU ก่อนถึงโรงพยาบาล จำนวน 20 โปรแกรมในอเมริกา มี 19 โปรแกรมที่ได้ข้อมูลตอบกลับ และพบว่า 100% มีปัญหาทางงบประมาณ บางโปรแกรมใช้งบประมาณบางส่วน และบางโปรแกรมใช้งบประมาณทั้งหมดจากเงินบริจาค เงินมูลนิธิ หรือเงินสนับสนุนของสถาบันเพื่อทำให้โปรแกรม MSU ดำเนินต่อไปได้

“งบประมาณที่จำกัดของอเมริกาท้าทายการสร้างความต่อเนื่องในการให้การรักษาโดยรถ MSU เพราะทำให้การให้บริการถูกจำกัดไปใช้รถ EMS แทน” Grotta และทีมกล่าว “การให้ความสำคัญของการรักษาอย่างรวดเร็วโดยรถ MSU เพื่อลดความพิการและการตาย จำเป็นจะต้องปรับรูปแบบงบประมาณใหม่เพื่อทำให้รถ MSU สามารถให้บริการได้ตลอด”

“งบประมาณเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการต่อไป เนื่องจากงบประมาณเฉลี่ยสำหรับ MSU มีเพียง 500 ดอลล่าร์ แต่ค่าใช้จ่ายจริงโดยประมาณ คือ 2,500 ดอลล่าร์ต่อการปฏิบัติงาน 1 เวร คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปีโดยประมาณ 875,000 ดอลล่าร์ สำหรับบุคลากรบนรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการให้บริการ “

จากข้อมูลปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยอย่างน้อย 10 ราย จากผู้ป่วยทุกๆ 100 ราย ที่ได้รับการรักษาโดยรถ MSU จะไม่มีความผิดปกติใดๆ โดย Grotta กล่าวว่า “งบประมาณในการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คือประมาณ 200,000 ดอลล่าร์ หากลองสมมติว่าเราสามารถประหยัดครึ่งหนึ่งของงบประมาณ หรือ 100,000 ดอลล่าร์ต่อผู้ป่วยแต่ละรายในผู้ป่วย 10 รายนั้นได้ เราจะประหยัดงบประมาณลงไปได้ 1,000,000 ดอลล่าร์ ซึ่งสามารถทดแทนงบประมาณ 875,000 ดอลล่าร์ต่อปีสำหรับรถ MSU ได้ ผมจึงคิดว่าเราควรหารือกันเรื่องนี้”

“การศึกษานี้มีความน่าเชื่อถือเพราะเป็นโครงการที่ทำโดยการสุ่มทดสอบ รถ MSU จะมาถึงจุดปฏิบัติงานช่วงกลางสัปดาห์ ในระหว่างที่มีการปฏิบัติงานปกติ ทำให้สามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพของรถ MSU ได้ดีขึ้น แต่เนื่องจากการให้บริการรถ MSU มีค่าใช้จ่ายสูง เราจึงต้องการข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับความคุ้มค่าของรถ MSU ก่อนที่จะให้บริการอย่างแพร่หลาย” กล่าวโดย Mitchell S. V. Elkind แพทยศาสตรบัณฑิต ประธานสมาคมหัวใจ สมาคมโรคหลอดเลือดสมองอเมริกา และศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยาและระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยการแพทย์โคลัมเบีย เมืองนิวยอร์ก

จากผลการศึกษาเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แสดงให้เห็นว่าเวลาการให้บริการสามารถขยายจาก 3 เป็น 6 หรือแม้แต่ 24 ชั่วโมงได้

“การศึกษาพัฒนารถ MSU ที่ดีที่สุดนี้ ทำให้เห็นว่า เราสามารถให้บริการผู้ป่วยได้เร็วขึ้น ช่วงเวลารักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คือ ภายในชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการผิดปกติ และด้วยรถ MSU เราสามารถรักษาผู้ป่วยได้จำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมดด้วยยาสลายลิ่มเลือด ซึ่งนั่นเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างดี” Elkind กล่าว

“การให้การรักษาที่รวดเร็วกับผู้ป่วยที่มากขึ้น ต้องมีการเริ่มต้นใหม่ในหลายๆ ส่วน เพราะการรักษาที่ล่าช้าหลายๆ ครั้ง เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ผู้ป่วยจะโทรติดต่อบริการฉุกเฉิน ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองจึงมีความสำคัญมาก” Elkind กล่าว

“เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาโดยแพทย์ที่หน่วยตรวจฉุกเฉิน ไม่ใช่รถ MSU ที่มีเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan เราต้องมั่นใจว่าหน่วยตรวจฉุกเฉิกนั้นรับรู้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และนำผู้ป่วยมายังศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างรวดเร็ว บุคลากรที่หน่วยตรวจฉุกเฉินต้องตระหนักถึงการจัดการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ทฤษฎีที่รอให้ร่างกายรักษาตัวเองจะหมดไป” Elkind กล่าวสรุป

การศึกษาวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยผลการรักษาผู้ป่วยและสมาคมหัวใจอเมริกา โดยมี Grotta เป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการให้บริการรถ MSU และรถพยาบาล

 

แปลจากบทคัดย่อ: Late-breaking abstract 2 จากการประชุมโรคหลอดเลือดสมองนานาชาติ (ISC) ปี 2564 เผยแพร่เมื่อ 17 มีนาคม 2564 / https://www.medscape.com/viewarticle/947736?src=WNL_mdpls_210323_mscpedit_card&uac=69513DT&spon=2&impID=3267898&faf=1#vp_2

 

ผู้แปล: นางสาวอภิญญา โล่หิรัญ พยาบาลประจำศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง

 

 

ใส่ความเห็น